สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดบึงกาฬ (สกร)
Untitled Document
   กศน. บุ่งคล้า
Untitled Document
แหล่งเรียนรู้ในตำบล

 

 

ข้อมูลทั่วไป

ประวัติความเป็นมาของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว

กรมป่าไม้เริ่มทำการสำรวจเบื้องต้นป่าภูวัว เมื่อ พ.ศ. 2507 และพบว่าป่าแห่งนี้เป็นแหล่งต้นน้ำ ลำธารที่สำคัญ สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ และมีสัตว์ป่าชุกชุม สมควรที่จะจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 จึงได้จัดส่งเจ้าหน้าที่อีกคณะหนึ่งเข้าไปทำการสำรวจอย่างละเอียด และทำการรังวัดหมายขอบเขตเพื่อทำการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต่อไปแต่เนื่องจากสถานการณ์ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจและพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่แทรกซึมของผู้ก่อการร้าย การดำเนินงานต่าง ๆ จึงต้องหยุดชะงักลง จนถึงปี พ.ศ. 2517 เมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ ภายในพื้นที่ป่าภูวัวคลี่คลายลง กรมป่าไม้จึงได้ดำเนินการต่อไปจนสามารถนำเรื่องเสนอขอความเห็นจากคณะรัฐมนตรีและตราพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าภูวัว ให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอนที่ 87 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2518 มีเนื้อที่ประมาณ 186.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 116,562 ไร่ อยู่ในท้องที่ตำบลหนองเดิ่น ตำบลบุ่งคล้า ตำบลโคกกว้าง อำเภอบุ่งคล้า ตำบลบ้านต้อง ตำบลโสกก่าม อำเภอเซกา ตำบลชัยพร อำเภอบึงกาฬ และตำบลท่าดอกคำ อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดหนองคาย และในปี พ.ศ. 2533 ได้มีการรังวัดฝังหลักเขตรอบพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับหน่วยพิทักษ์ป่าถ้ำฝุ่น ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงภูวัว ยังมีความอุดมสมบูรณ์และมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ จึงได้ผนวกพื้นที่บริเวณนี้เข้าเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว เนื้อที่ประมาณ 8,100 ไร่ รวมมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 124,662 ไร่

สภาพภูมิประเทศ

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว  มีเนื้อที่ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอ บึงกาฬ อำเภอเซกา อำเภอบึงโขงหลงและอำเภอบุ่งคล้า  อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือสุดของภาค เกือบติดพรมแดนประเทศลาว  มีอาณาเขต  2  ด้าน   ขนานไปกับแม่น้ำโขง  อยู่ห่างจากชายแดนประมาณ 2 กิโลเมตร  มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเฉลี่ยประมาณ 150-300 เมตร สภาพดินพื้นล่างส่วนใหญ่ เป็นดินทรายและดินลูกรัง ทางด้านน้ำตกชะแนนมีพื้นที่บางส่วนเป็นดินเหนียวปนดินร่วน พื้นหลังภูและสันเขา ส่วนใหญ่เป็นพื้นทราย และดินทราย  สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง  ป่าดิบแล้ง  และป่าดิบชื้น

จากการสำรวจครั้งล่าสุดพบว่า ยังคงมีสัตว์ชุกชุมหลายชนิด  เช่น ช้าง เสือโคร่งเสือดาว หมี ชะมด ไก่ฟ้า ไก่ป่า ลิง ชะนีและนกนานาชนิด เนื่องจากมีป่าดงดิบในเขตจำกัดประมาณ 40 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น สัตว์ใหญ่จึงไม่สามารถขยายพันธ์เพิ่มได้มาก มีสถานที่น่าสนใจ คือบริเวณหัวภูด้านตะวันออก บนยอดภูเป็นลานหินโล่งกว้าง ที่ถูกน้ำกัดเซาะจนมีลวดลายสวยงามมากมีระดับความสูง จากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 330 ม.สามารถมองเป็นทิวทัศน์ที่เป็นป่าได้ โดยรอบ เห็นได้ไกลถึงป่าในฝั่งลาว เช่น ภูควาย ภูงู ภูหมาก่าวของลาวได้ชัดเจนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือสุดของภาค เกือบติดพรมแดนประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ห่างจากตัวจังหวัดหนองคาย ตามเส้นทางสาย 212 ประมาณ 185 กิโลเมตร มีความสูงจากระดับน้ำทะเล อยู่ระหว่างความสูงประมาณ 160 – 448 เมตร แบ่งเป็น 2 ลักษณะ  คือ

      1. บนหลังภูวัว มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชันทางด้านทิศตะวันออก และลาดไปทางทิศตะวันตก เนื้อที่ประมาณ 84 ตารางกิโลเมตร จุดสูงสุด คือ ภูวัวหลังถ้ำสูง ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเล 448 เมตร ลักษณะหินบนภูวัว โดยทั่วไปเป็นหินทราย

      2. ตอนล่างรอบ ๆ ภูวัว เนื้อที่ประมาณ 102.5 ตารางกิโลเมตร สภาพเป็นป่าดิบแล้ง ผสมป่าเบญจพรรณ

สภาพภูมิอากาศ แบ่งออกเป็น 3 ฤดู

1.       ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงเดือนตุลาคม ฝนตกชุกทุกปี มีความชื้นเย็นสบาย ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปี ประมาณ  1,000 – 1,700 ลูกบาศก์เมตร อุณหภูมิเฉลี่ย 25 องศาเซลเซียส

2.       ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวเย็น มีหมอก ปกคลุมโดยทั่วไป อุณหภูมิเฉลี่ย   20 องศาเซลเซียส 3. ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคม อากาศแห้งแล้ง มักเกิดไฟป่าเป็นประจำ อุณหภูมิเฉลี่ย 30 องศาเซลเซียส

สภาพทางธรณีวิทยาและปฐพีวิทยา

 ทรัพยากรน้ำ

สภาพดินพื้นล่างส่วนใหญ่เป็นดินทรายและดินลูกรัง ทางด้านน้ำตกชะแนนมีพื้นที่บางส่วนเป็นดินเหนียวปนดินร่วน พื้นที่หลังเขาส่วนใหญ่เป็นพื้นที่หินทราบและดินทราย สภาพการพังทลายปานกลางส่วนของหินบนหลังภูวัว ส่วนให้เป็นหินทรายมีลักษณะเป็นลานหิน

ทรัพยากรป่าไม้ (ชนิดป่าและพันธุ์ไม้)

สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดิบแล้ง ป่าทุ่งหญ้า ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าไผ่ กระจัดกระจายทั่วไป พันธุ์ไม้สำคัญที่พบ มีดังนี้ ไม้ยาง ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน พยุง มะค่าโมง กะบาก ไม้ก่อ ส่วนไม้พื้นล่างเป็นไม้จำพวกหวาย ปาล์ม และไม้ไผ่

 

ทรัพยากรสัตว์ป่า

ในอดีตป่าภูวัวเคยมีสัตว์ป่าจำพวก เก้ง กวาง ช้างป่า เสือ เลียงผา กระทิง วัวแดง อยู่อย่างชุกชุม แต่ถูกล่าจนเกือบจะสูญพันธุ์ บางชนิดก็สูญพันธุ์จากพื้นที่ไปแล้ว จากการสำรวจล่าสุด เมื่อต้นปี พ.ศ. 2546 พบว่ายังมีสัตว์ป่าอีกหลายชนิดที่ยังหลงเหลืออยู่ได้แก่ ช้างป่า ประมาณ 31 ตัว กระจก หมูป่า อีเห็น ลิง เก้ง นกชนิดต่าง ๆ ค้างคาว ไก่ป่า และไก่ฟ้า เป็นต้น สำหรับสัตว์ที่มีลักษณะเด่นในพื้นที่ได้แก่ ช้าง สัตว์ที่มีจำนวนมาก ได้แก่ นก แต่เนื่องจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว มีพื้นที่ป่าดงดิบในเขตจำกัด ประมาณ 40 ตารางกิโลเมตร สัตว์ป่าส่วนใหญ่จึงไม่สามารถเพิ่ม ขยายพันธุ์ได้มาก ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จึงได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่หลายแห่งให้เป็นที่หลบภัยและเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าต่อไป

ทรัพยากรน้ำ

เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำที่สำคัญหลายสาย มีลำห้วยสำคัญที่มีน้ำไหลตลอดปี 3 สาย แต่ละสายไหลลงสู่ห้วยบังบาตร และไหลลงสู่แม่น้ำโขงอีกทอดหนึ่ง ได้แก่

1. ลำห้วยชะแนน ซึ่งไหลลงรวมกับห้วยใหญ่บังบาตร ที่บ้านหนองยาว เป็นลำห้วยขนาดใหญ่ แผ่สาขาปกคลุมเกือบทั่วบนภูวัว มีน้ำตกที่สวยงามไหลลงจากภูวัวสู่ลำห้วยบังบาตร

2. ลำห้วยกะอาม ไหลลงรวมกับลำห้วยบังบาตรทางตอนเหนือของบ้านดอนเสียด

3. ลำห้วยบังบาตร เป็นลำห้วยใหญ่ที่สำคัญมาก มีต้นกำเนิดมาจากป่าบริเวณตอนใต้ ของภู ไหลรวมกับลำห้วยกะอาม และลำห้วยชะแนน แล้วไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่บ้านบังบาตร อำเภอบึงกาฬ

แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ

ประเภทน้ำตก

1. น้ำตกเจ็ดสี ที่อยู่บริเวณบ้านดอนเสียด ตำบลบ้านต้อง อำเภอเซกา อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยพิทักษ์ป่าดอนเสียด เดิมชื่อน้ำตกกะอาม มี 4 ชั้น เป็นน้ำตกจาหน้าผาสูงทำให้เกิดเป็นละอองน้ำ เมื่อกระทบกับแสงแดดจึงเกิดสีต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อน้ำตก ตัวน้ำตกมีขนาดค่อนข้างใหญ่และสวยงามอีกแห่งหนึ่ง บริเวณน้ำตกมีแนวสันเขาเป็นผาหินกับลานหินที่มีทางยาว 3 – 5 กิโลเมตร จากลานหินบนสันภูวัวบริเวณน้ำตกจะมองเป็นทิวทัศน์ด้านตะวันตกได้โดยตลอดแนว การเดินทางเข้าถึงโดยรถยนต์ และเดินเท้าต่ออีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร ก็จะถึงตัวน้ำตก

2. น้ำตกถ้ำฝุ่น ตั้งอยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าถ้ำฝุ่น บ้านภูสวาท ตำบลหนองเดิ่น อำเภอบุ่งคล้า อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยพิทักษ์ป่าถ้ำฝุ่น ซึ่งน้ำตกถ้ำฝุ่น เรียกตามชื่อถ้ำบริเวณใกล้กับน้ำตกที่มีดินเป็นฝุ่น ซึ่งเป็นชื่อที่คนท้องถิ่นเรียกเพิงหิน ที่ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปตั้งอยู่ และมีพระธุดงค์มาปฏิบัติธรรมเป็นระยะ นอกจากนี้บริเวณโดยรอบตัวน้ำตกยังมีถ้ำหรือเพิงหินขนาดเล็กที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง

          น้ำตกชะแนน

  3. น้ำตกชะแนน ตั้งอยู่ในท้องที่บ้านเทพมีชัย ตำบลหนองเดิ่น อำเภอบุ่งคล้า อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยพิทักษ์ป่าชะแนน เดิมชื่อ น้ำตกตาดสะแนน ” (คำว่า สะแนน เป็นภาษาอีสาน แปลว่า สวยงามที่สุด) เกิดจากลำห้วยชะแนน ประมาณ 2 ชั้น นับเป็นน้ำตกที่ใหญ่และสวยงามที่สุดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว และเดินทางเข้าถึงได้ยากที่สุด การเดินทางเข้าน้ำตกชะแนนสามารถเข้าได้ 2 ทาง โดยรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ และทางเรือ นอกจากธรรมชาติที่สวยงามและน้ำตกที่น่าสนใจแล้ว ยังมีสะพานหิน (อยู่ก่อนถึงทางเดินเท้าสู่น้ำตก) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น้ำลอดหายไปใต้แนวหินที่มีความยาวประมาณ 100 เมตร และมีบึงจระเข้ซึ่งเป็นบึงขนาดใหญ่ ตั้งอยู่เหนือน้ำตก ครั้งเดินตัดน้ำตกขึ้นไปอีกประมาณ 300 เมตร บริเวณริมบึงมีหาดทรายกว้างเหมาะสำหรับใช้เป็นพื้นที่กางเต้นท์พักแรมได้

4. น้ำตกถ้ำพระ ตั้งอยู่บริเวณบ้านถ้ำพระ ตำบลโสกก่าม อำเภอเซกา อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยพิทักษ์ป่าถ้ำพระ ชื่อน้ำตกเรียกตามชื่อของถ้ำที่มีลักษณะเป็นชะง่อนหินบริเวณหน้าผามีรูปปั้นพระพุทธรูปซึ่งสร้างโดยพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อยู่ฝั่งตรงข้ามน้ำตกซึ่งคนท้องถิ่นเรียกว่า ถ้ำพระ น้ำตกถ้ำพระนี้เกิดจากลำห้วยบังบาตร มีความสูงประมาณ 3 ชั้น บริเวณน้ำตกมีลานหินทรายสีแดงที่โล่งกว้าง มีสภาพธรรมชาติงดงาม สามารถพบเห็นความงามของไม้ดอกนานาพันธุ์ หลากหลายสีสันในช่วงฤดูฝน

5. น้ำตกตาดนกเขียน ตั้งอยู่บริเวณบ้านภูเงิน ตำบลบ้านต้อง อำเภอเซกา อยู่ในความรับ ผิดชอบของฐานพิทักษ์ป่าตาดนกเขียน เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่มีความสวยงามตามธรรมชาติ มี 3 ชั้น และเที่ยวได้เฉพาะในช่วงฤดูฝน การเดินทางเข้าถึงโดยรถยนต์ทำได้ค่อนข้างสะดวด และเดินเท้าต่ออีกเพียงเล็กน้อยก็ถึงตัวน้ำตกชั้นแรก

 จุดชมทิวทัศน์

1. จุดชมทิวทัศน์บริเวณบนหลังภูวัว มีระดับความสูงเฉลี่ย 160 – 448 เมตร ประกอบด้วยภูวัวหลังถ้ำสูง ภูวัวหลังถ้ำพราย ภูวัวหลังถ้ำปอ ภูเมย ภูไม้เอี้ย และภูแผงม้า ซึ่งแต่ละแห่งกระจายตัวกันอยู่และมีเส้นทางเข้าถึงหลายเส้นทาง รวมทั้งยังมีเส้นทางเดินเชื่อมต่อกันในแต่ละจุดบนยอดภูด้วย บริเวณที่เป็นลานหินโล่งกว้างบนยอดภูส่วนใหญ่จะถูกลมและน้ำกัดเซาะเกิดเป็นลวดลายที่หลากหลาย สวยงามและแปลกตา นับเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่งที่น่าสนใจในพื้นที่

2. จุดชมวิวบริเวณหัวภูทางด้านตะวันออก เช่น ภูวัวหลังถ้ำสูง ภูวัวหลังถ้ำพราย จะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ไปได้ไกลมาก เห็นภูมิประเทศที่เป็นป่า โดยรอบได้ไกลถึงภูงู ของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้บนหลังภูยังมีสภาพธรรมชาติของพืชพันธุ์และสภาพธรณีวิทยาที่สวยงามหลากหลาย มีลานหินที่กว้างใหญ่มาก เหมาะสำหรับใช้เป็นพื้นที่กางเต้นท์ พักแรม ลานหินดังกล่าวนี้เคยถูกใช้ประโยชน์เป็นที่จอดเฮลิคอปเตอร์ของทหารอเมริกาในช่วงสงคราม จึงเป็นเหตุเรียกชื่อว่า ลานอเมริกา

   ประเภทถ้ำ

- ถ้ำจันทร์ผา ถ้ำไฮ ถ้ำตาแสง ถ้ำบูชา ถ้ำพระ อยู่ในท้องที่อำเภอเซกา

ถ้ำพราย ถ้ำปอ ถ้ำสูง ถ้ำเกิ้ง ถ้ำฝุ่น ถ้ำฝ่ามือ ถ้ำแกลบ อยู่ในท้องที่อำเภอบุ่งคล้า  ซึ่งในหลาย ๆ ถ้ำบนภูวัว เคยมีเกจิอาจารย์หลาย ๆ ท่านได้มาปฏิบัติธรรม นั่งวิปัสนากรรมฐาน อาทิเช่น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์จวน กุลเชษโฐ พระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์วัน หลวงปูเทศก์ เทศรังสี หลวงปูแหวน สุจินโณ ฯลฯ

 เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ

- ทางขึ้นภูวัวหลังถ้ำพราย ตั้งอยู่บริเวณที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว บ้านขามเปี้ย อำเภอบุ่งคล้า

เส้นทางบึงจระเข้ (ไข่มุกอีสาน) อยู่ท้องที่บ้านเทพมีชัย ตำบลหนองเดิ่น อำเภอบุ่งคล้า เหนือน้ำตกชะแนนขึ้นไป

เส้นทางลานอเมริกา ผากำปั่น ผาหมากหม้อ อยู่ท้องที่บ้านภูสวาท ตำบลหนองเดิ่น อำเภอบุ่งคล้า

สิ่งอำนวยความสะดวก

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว มีบ้านพักรับรองให้ สำหรับนักท่องเที่ยว และบริการคนนำทางขึ้นชมธรรมชาติบนภูวัว โดยท่านต้องติดต่อล่วงหน้า ก่อนเดินทางต้องส่งจดหมายแจ้งความประสงค์ขอเข้าไปค้างแรมที่เขตฯภูวัวล่วง หน้าอย่างน้อย 15 วัน แจ้งเรื่องต้องการลูกหาบ คนนำทาง จำนวนเท่าไร จำนวนวันที่ต้องการค้างแรม รวมถึงจำนวนคนที่ไปด้วย และส่งจดหมายไปที่ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว ต.บุ่งคล้า อ.บุ่งคล้า  จ.บึงกาฬ 38000

โทร. 08-1260-1845, 0-4242-9362

มีบ้านพัก 2 หลัง เรือนนอน 2 หลัง ค่าที่พักแล้วแต่จะบริจาค

 มีเต็นท์ให้เช่า ขนาด 2 คน ราคา 100 บาท/คืน ถ้านำเต็นท์มาเอง เสียค่าธรรมเนียมกางเต็นท์ 30 บาท/คน/คืน

การเดินทาง

1. เดินทางโดยรถไฟ จากกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดหนองคาย จากนั้นเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางจากจังหวัดหนองคาย ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 ผ่านอำเภอโพนพิสัย อำเภอปากคาด อำเภอบึงกาฬ อำเภอบุ่งคล้า ห่างจากอำเภอบุ่งคล้าประมาณ 3 กิโลเมตร ถึงบ้านดอนจิก จะมีป้ายบอกหน่วยงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จากนั้นเดินทางโดยรถสามล้อรับจ้างถึงสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว

2. การเดินทางโดยรถยนต์ปรับอากาศ จากกรุงเทพฯ ถึงอำเภอบึงกาฬ จากนั้นเดินทางต่อโดยรถยนต์โดยสารประจำทางสาย 224 ตามเส้นทางบึงกาฬ บุ่งคล้า ถึงบ้านดอนจิก ต่อรถรับจ้างเข้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว ระยะทาง 807 กิโลเมตร

3. การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว สามารถเข้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว ได้ 3 ทาง คือ เส้นทางสายที่ 1 จากกรุงเทพฯ มาตามเส้นทางสายมิตรภาพ ผ่านจังหวัดอุดรธานี หนองคาย จากนั้นเดินทางมาตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 ผ่านอำเภอโพนพิสัย อำเภอปากคาด อำเภอบึงกาฬ อำเภอบุ่งคล้า ห่างจากอำเภอบุ่งคล้าประมาณ 3 กิโลเมตร ถึงบ้านดอนจิก ทางเลี้ยวขวาเข้าสู่สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว เส้นทางหมายเลข 2 หากท่านเดินทางผ่านจังหวัดสกลนคร เดินทางมาถึงอำเภอพังโคน มาตามเส้นทางพังโคน บึงกาฬ ผ่านอำเภอวานรนิวาส อำเภอคำตากล้า ถึงทางแยกบ้านหนองหิ้ง เลี้ยวขวา ผ่านอำเภอเซกา ถึงแยกบ้านดงบัง จุดเชื่อมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 เลี้ยวซ้ายไปอำเภอบุ่งคล้าถึงบ้านดอนจิก ทางเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว เส้นทางหมายเลข 3 หากท่านเดินทางผ่านมาจากจังหวัดนครพนม สามารถเดินทางเข้าสู่เขตฯ ภูวัว โดยง่าย โดยใช้เส้นทางหมายเลข 212 นครพนม หนองคาย ผ่านอำเภอท่าอุเทน อำเภอบ้านแพง ถึงบ้านดอนจิก เลี้ยวซ้ายเข้าสู่สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว


   

ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ :สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดบึงกาฬ (สกร)

ที่อยู่ : 456 ม.1 ถ.บึงกาฬกลาง-บึงสวรรค์ ต.บึงกาฬ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ

โทรศัพท์ : 042492733

 

ไอพีคุณ
: 3.147.73.35
วันที่เริ่มนับ
: 10/01/2558
วันที่ปัจจุบัน
: 25/04/2567
ผู้ชมออนไลน์
: 15
จำนวนผู้เข้า
: 12883211