ตามพระราชบัญญัติ ให้แยกอําเภอบึงกาฬ อําเภอเซกา อําเภอโซ่พิสัย อําเภอบุ่งคล้า อําเภอบึงโขงหลง อําเภอปากคาด อําเภอพรเจริญ และอําเภอศรีวิไล ออกจากการปกครองของจังหวัดหนองคาย รวมตั้งขึ้นเป็นจังหวัดบึงกาฬ ในพระราชบัญญัติตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๔ นั้น
กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ประกาศจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดบึงกาฬ เรียกชื่อย่อว่า สำนักงาน กศน.จังหวัดบึงกาฬ ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๔ มีสถานะเป็นหน่วยงานทางการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ
โดยมอบหมายให้ นายบุญโชค พลดาหาญ รองผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดอุดรธานี ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดบึงกาฬ ตั้งแต่วันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นต้นมา
ปัจจุบันตั้งอยู่บนเนื้อที่ ๙ ไร่ ๑๒ ตารางวา ณ บริเวณ กศน.อำเภอเมืองบึงกาฬ เลขที่ ๔๕๖ หมู่ที่ ๑ ถนนบึงกาฬกลาง-บึงสวรรค์ ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดบึงกาฬ มีหน้าที่ คือ
๑.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด
๒.มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในจังหวัด โดยมีสถานศึกษาในสังกัด ๘ แห่ง ประกอบด้วย
- ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองบึงกาฬ
- ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอปากคาด
- ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอโซ่พิสัย
- ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอบุ่งคล้า
- ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอศรีวิไล
- ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอพรเจริญ
- ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอบึงโขงหลง
- ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเซกา
นอกจากนั้น ยังมี กศน.ตำบล ซึ่งเป็นหน่วยจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยครบทุกตำบล รวม ๕๓ แห่ง และมีภาคีเครือข่ายที่เป็นแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ผู้รู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ในพื้นที่ต่างๆ